เนื่องจากในวันหยุดยาว ชดเชยวันสงกรานต์ ปี 2020 ปีที่โควิท 19 ระบาดหนักทั่วทั้งโลก อยู่บ้านเฉยๆ คงไม่ดีแน่ รื้อเอาสายไฟเส้นเก่าที่มีอยู่ จับมาปัดฝุ่น เปลี่ยนหัวท้ายเสียใหม่ เพราะอยากรู้ว่าหัวท้าย audio grade อย่าง Viborg เสียงจะดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่ง วิธีการเปลี่ยนหัวท้ายปลั๊กไฟ audio grade สามารถหาดูได้จาก YouTube บ้าง แต่ผมถนัดเขียนมากกว่า เลยเขียนแบบบอกเล่าวิธีการเปลี่ยนหัวท้ายปลั๊กไฟไปด้วยในคราวเดียวกัน
ผมมีสายไฟ Oyaide Tunami แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น เดิมเข้าหัว Hubell ท้าย C-079 อยู่ จับมารื้อถอดออก จากภาพประกอบเราจะเห็นสายไฟที่อยู่ภายใน 3 เส้น 3 สีด้วยกัน สีดำคือสายเฟส (Line) สีขาว คือสายนิวทรัล (Neutral) และสีเขียว สายดิน (Ground) หัวปลั๊ก VIBORG ที่เราเลือกใช้เป็นหัวรุ่น VM512G และท้ายปลั๊กไฟรุ่น VF512G ซึ่งเป็นหัวท้ายปลั๊กไฟ audio grade ชุบทอง แบบ USA 15A/125V (ตัวผู้จะเป็นปลั๊กแบน) เพราะเราต้องการคุณลักษณะของเสียงที่อิ่ม มีพลัง แต่แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวล
คุณสมบัติหัวท้ายปลั๊กไฟ Audiophile จาก VIBORG Audio คือ ตัวนำ (Conductor) ผลิตจากทองแดงบริสุทธิ์ (Pure copper) โดยมีตัวปลั๊กทำมาจาก อลูมิเนียม อัลลอยด์ ส่วนหัวปลั๊กใช้โพลีคาบอเนทจากเยอรมันนี (Bayer-2805) รองรับสายไฟที่มีเส้นรอบวงขนาด 6-20mm และสายทองแดงได้สูงสุด 8 mm.
หัวท้ายปลั๊กไฟ Viborg จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภทด้วยกัน คือ
เนื่องจากทุกตัว หัวปลั๊กทำจากอลูมีเนียมหนา กันสัญญานรบกวนได้ดี จึงได้ความสงัด และความสะอาดเพิ่มเข้ามา ทำให้รายละเอียดเพิ่มขึ้นมาอีกมาก
ขั้นตอนแรกเราจะหมุน คลายเกรียวที่ขั้วปลั๊กออก เพื่อจะคลายน๊อตในจุดต่างๆ ของปลั๊กก่อนที่จะประกอบสายไฟ จากนั้นนำสายไฟเป้าหมายมาเสียบรอไว้ ระหว่างเราเริ่มคลายน๊อตจากตัวปลั๊ก ในระหว่างที่เราคลายเกลียวน๊อตนั้น เราจะสังเกตได้ว่า น๊อตจะมี 3 สีด้วยกัน คือสีทอง สำหรับสาย L (Line) สีเงินสำหรับสาย N (Neutral) และ ดำสำหรับสาย G (Ground) ซึ่งที่ตัวปลั๊กเอง จะมีตัวหนังสือกำกับอยู่บนตัวปลั๊กเช่นกัน ดูจากภาพประกอบ
ขั้นตอนถัดมา เราจะทำการล๊อกสายไฟให้แน่น จะเห็นได้ว่าที่ท้ายขั้วของปลั๊กไฟ จะมีตัวรองสีดำอยู่ หากสายไฟมีขนาดที่เล็ก หรือใหญ่กว่ารู ก็ใช้ตัวรองสีดำนี่แหละเสริมเข้าไป จนได้ขนาดพอดี จากนั้นก็หมุนน๊อต แต่เอาแค่หลวมๆก็พอนะครับ เพราะเราจะต้องเลื่อนปรับขยับหัวเข้าออก ก่อนที่จะขันน๊อตให้แน่น
จากนั้นเราจะนำสายที่ปอกไว้เรียบร้อยแล้วเสียบเข้าไปในรูปลั๊ก โดยที่ปลายสายเราจะปอกไว้ประมาณ 1 ซม. ซึ่งขนาดของสายไฟ Oyaide จะมีขนาดประมาณ 4mm ซึ่งปลั๊กไฟของ VIBORG สามารถรองรับได้ถึง 8mm ด้วยกัน ตอนนี้ก็เสียบสายไฟ เข้าช่องที่เราคลายน๊อตได้แล้ว อย่าลืม สีทองคือ L สีเงิน คือ N และสีดำ คือ G เทคนิค ณ จุดนี้คือ เสียบเข้าไปตรงๆ อย่าให้ทองแดงแตกออกจากกัน และอย่าหมุนมัดทองแดงไว้ด้วยกัน เสียงที่ได้จะเครียดตึงเกินไป เมื่อเสียบสายไฟเข้าที่ช่องแล้ว ให้ขันยึดสายไฟ กับปลั๊ก พอตึงมือ ให้แน่นเพียงพอ ไม่หลุดออกมาจากเบ้าก็เพียงพอ เนื่องจากไม่ต้องการให้เสียงออกมาเค้นมากเกินไป
ทำเช่นเดียวกันกับ ท้ายปลั๊กไฟ VIBORG VF512G ซึ่งมีเทคนิคตอนใส่ปลั๊กเข้ากับเคส อลูมิเนียมจะเห็นว่ามีร่องที่ทางผู้ผลิตทำสัญลักษณ์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นขันน๊อต ยึดตัวเคส กับปลั๊กให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จพิธี
สวยงาม พระรามเก้าเป็นยิ่งนัก สงสัยข้อไหนสอบถามเพิ่มเติมได้จากเมนท์ด้านล่างเลยนะครับ