บางที.. คนเราก็อาจจะสับสนได้ เพราะบางครั้งก็ว่าเครื่องที่เล่นง่ายๆ ไม่ต้องปรับอะไรเลย ออโต้ฯ ให้หมดทุกอย่างเป็นเรื่องดี เพราะเล่นง่าย แต่บางครั้งกลับมองว่า เครื่องที่ปรับแต่งได้ให้ความยืดหยุ่นมากกว่า สรุปแล้ว คงต้องขึ้นอยู่กับคนเล่นซะแล้ว ว่าเป็นคนที่ชอบไปทางไหน ชอบแบบง่ายๆ เสียบสายปั๊บเปิดเพลงฟังได้เลย ชอบไม่ชอบก็จบอยู่แค่นั้น หรือว่าเป็นคนที่ชอบปรับชอบจูนเสียง
External DAC ของ Gold Note ตัวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกมาตอบโจทย์คนที่ชอบปรับชอบจูนเสียง ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบปั้นแต่งเสียงให้ถูกโฉลกกับตัวเอง คุณต้องไม่พลาดไปลองสัมผัส DS-10 ตัวนี้ให้ได้.!
“Gold Note”
เป็นใคร.? มาจากไหน.?
กำเนิดของ Gold Note มาในเส้นทางเดียวกับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ แบรนด์ดังๆ ในอดีต คือเกิดขึ้นเพราะ passion หรือสเน่หาที่มีต่อดนตรีของเจ้าของคือ Maurizio Aterini ซึ่งมีไอเดียที่อยากจะทำให้เครื่องเสียงที่ประทับตราด้วยวลี “Made in Italy” เป็นที่รู้จักและยอมรับจากทั่วโลก เขากับภรรยา Elena Aterini และหุ้นส่วน Alessio Oronti ร่วมกับก่อตั้งแบรนด์ “Gold Note” ขึ้นมาเมื่อปี 2012
Maurizio Aterini ผู้ก่อตั้งและ CEO
ทีมงานของ Gold Note
ปรัชญาที่ Maurizio นำมาใช้ในการผลักดันแบรนด์ของเขาคือการมองย้อนกลับไปในอดีตและก้าวไปสู่อนาคตในเวลาเดียวกัน นำมาซึ่งแนวทางการออกแบบที่ตอบสนองต่อมาตรฐานของนักเล่นเครื่องเสียงในแง่ของคุณภาพเสียงมาเป็นอันดับแรก ในขณะเดียวกันก็พยายามนำเอาฟังท์ชั่นและอินพุตสมัยใหม่มาบรรจุลงไปด้วยเพื่อให้มีคุณสมบัติร่วมสมัยไปกันได้กับนักเล่นฯ ยุคใหม่ และนักเล่นยุคเก่าที่ต้องการเดินไปข้างหน้าด้วย
DS-10
Streaming DAC with Headphone Output & Preamplifier
จริงๆ แล้ว Gold Note มีผลิตภัณฑ์ครบทุกประเภท ทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง, โฟโนสเตจ, ซีดีเพลเยอร์, ดีทูเอ คอนเวอร์เตอร์, ปรีแอมป์, เพาเวอร์แอมป์ และลำโพง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาตั้งใจออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงโลกของไฮไฟฯ ใน อดีต–ปัจจุบัน–อนาคต เข้าไว้ด้วยกันก็คือ Streaming D/A Converter รุ่น DS-10 ตัวนี้นี่เอง
ในแง่ของความร่วมสมัย DS-10 ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับอินพุตใหม่ๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสตรีมไฟล์เพลงผ่าน Bluetooth และสตรีมไฟล์เพลงผ่าน Wi-Fi จากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตอย่าง TIDAL, Qobuz, DeeZer, Spotify ได้ รองรับการสตรีมไฟล์เพลงจากอินเตอร์เน็ต เรดิโอได้ทั่วโลก นอกจากนั้น DS-10 ยังรองรับการเล่นไฟล์เพลงของคุณเองโดยสตรีมไฟล์เพลงจาก NAS หรือฮาร์ดดิสบนคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องเล่น “Music Streamer” ที่มีคุณสมบัติเต็มรูปแบบจริงๆ!
ก่อนจะไปลงลึกในแง่ของการออกแบบและการใช้งาน DS-10 เรามาพิจารณารูปร่างหน้าตาของมันก่อน..
Half-size, but “Elegant”
เพื่อให้เข้ากับสมัยนิยมของเครื่องเสียงไฮไฟฯ ยุคปัจจุบัน DS-10 จึงถูกออกแบบมาในตัวถังขนาด half-size ที่มีความกว้างของแผงหน้าปัดแค่เพียงครึ่งเดียวของหน้าปัดมาตรฐานทั่วไป แต่เมื่อได้สัมผัสกับตัวถังของ DS-10 พบว่ามันมีความบึกบึนอยู่ในระดับเดียวกับเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ ทั่วไป ตัวถังภายนอกทำด้วยอะลูมิเนียมที่หนาถึง 0.5 ซ.ม. พับเป็นตัว U คว่ำ ที่มุมบนซ้าย–ขวาและด้านล่างของตัวถังถูกเจาะรูเป็นแนวยาวตีเฉียงทั้งสองข้าง ข้างละ 9 ช่องที่มีความยาวไม่เท่ากัน นัยว่าเพื่อระบายความร้อนและเป็นดีไซน์ไปในตัว
แผงด้านบนของตัวถังเยื้องไปทางด้านหลังมีโลโก้ของแบรนด์ผนึกเป็นฟิล์มบางๆ อยู่ตรงนั้น ส่วนแผงหน้าปัดทำด้วยโลหะที่หนาพอๆ กับตัวถัง ทั้งแผงหน้าและตัวถังชุบสีทองแชมเปญอ่อนๆ ดูหรูหรา สมกับที่เป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศอิตาลี ..
แผงหน้าปัดของ DS-10 มีขนาดพื้นที่เท่ากับ 8 x 20 ตร.ซ.ม. บนนั้นมีส่วนประกอบอยู่ไม่กี่อย่าง เมื่อมองเข้าไปตรงๆ ทางซ้ายมือจะมีไฟ LED เม็ดเล็กๆ หนึ่งเม็ดสำหรับแจ้งสถานะของตัวเครื่อง ซึ่งไฟ LED นี้จะแสดงเป็น 2 สี ถ้าใช้ภาคจ่ายไฟสวิชชิ่งในตัว DS-10 โดยเสียบสายไฟเอซีตรงเข้าที่ตัว DS-10 ไฟดวงนี้จะเป็นสีฟ้า แต่ถ้าคุณใช้ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ของ Gold Note ไฟดวงนี้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว เมื่อกดปุ่มเปิดหรือปิดเครื่อง ไฟ LED ดวงนี้จะกระพริบ และเมื่อเครื่องพร้อมทำงานหรือปิดลงเรียบร้อย ไฟดวงนี้จะหยุดกระพริบ และสว่างค้างไว้แบบนั้นตลอด ที่ใต้ไฟดวงนี้มีปุ่มเล็กๆ สีดำอยู่ปุ่มหนึ่ง ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีไว้ทำอะไร.? ลองกดดูแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น.??
เหนือไฟ LED ขึ้นไปด้านบนมีโลโก้สีทองติดอยู่ ส่วนใต้ไฟ LED และปุ่มเล็กๆ ปุ่มนั้นมีรูเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 6.3 ม.ม. ติดตั้งไว้ให้ใช้งาน ถัดไปทางขวามือเป็นจอแสดงผลขนาด กว้าง 6.0 ซ.ม. x สูง 4.5 ซ.ม. แสดงรายละเอียดของการใช้งานแต่ละส่วนในรูปของตัวอักษรและตัวเลขสีขาวและสีแดง ถัดไปทางขวาเกือบสุดขอบจะมีปุ่มทรงกระบอกขนาดปานกลางหนึ่งปุ่ม ซึ่งทางผู้ผลิตเรียกปุ่มนี้ว่า SKC (Single Knob Control) คือเป็นปุ่มเอนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ทั้งปรับตั้งเมนูและปรับระดับเสียง เหนือปุ่มนี้ขึ้นไปมีชื่อยี่ห้อและโค๊ดรหัสรุ่นพิมพ์สกรีนอยู่ตรงนั้น
ขั้วต่อเชื่อมอินพุต/เอ๊าต์พุต รวมถึงเทอร์มินัลทั้งหลายทั้งมวลถูกนำไปติดตั้งไว้ที่แผงหลังทั้งหมด แม้ว่าจะดูอัดแน่น แต่ทางผู้ผลิตก็พยายามหาวิธีจัดกลุ่มของช่องทางเชื่อมต่อไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน อย่างเช่น กลุ่มของสัญญาณ analog line output ที่ให้มาทั้งสัญญาณบาลานซ์ทางช่อง XLR (2) และสัญญาณซิงเกิ้ลเอ็นด์ทางช่อง RCA (1) อย่างละชุดได้ถูกจัดไว้ด้านบนเยื้องไปทางซ้ายของแผงหลัง
ส่วนช่องเชื่อมต่อสำหรับสัญญาณ digital input สำหรับภาค DAC ของ DS-10 ได้แก่อินพุต Coax (6), AES/EBU (5), TosLink 1 (8) และ 2 (9) ถูกนำไปติดตั้งไว้ที่ด้านล่างของแผงหลัง รวมอยู่กับช่องเชื่อมต่อสำหรับการ stream สัญญาณจากแหล่งต่างๆ นั่นคือช่อง Ethernet (3) และช่องอินพุต USB DAC (7) นอกจากนั้นก็เป็นช่องเชื่อมต่ออื่นๆ อย่างเช่น GN Link (14) ซึ่งเป็นการต่อพ่วงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เป็นของ Gold Note เพื่อกระตุ้นให้เปิด/ปิดตามเครื่องต้นทาง, ช่องเสียบแฟรชไดร้สำหรับเล่นไฟล์เพลง (4) ส่วนช่อง Line-In (16) สำหรับสัญญาณอะนาลอก อินพุตนั้นจะถูกปิดไว้ (มีให้ใช้ในรุ่น DS-10 Plus)
DS-10 สามารถสตรีมไฟล์เพลงผ่านทางระบบไร้สายได้ถึง 2 รูปแบบ คือผ่านทาง Bluetooth และผ่านทาง Wi-Fi ซึ่งให้เสารับคลื่นและจุดเชื่อมต่อไว้ที่แผงหลัง (11) พร้อมปุ่มกด WPS (10) สำหรับเชื่อมต่อตัว Wi-Fi ของตัว DS-10 เข้ากับ access-point ส่วนช่องเสียบ Micro USB (17) ให้มาเพื่อใช้ในการอัพเดตเฟิร์มแวร์ด้วยคอมพิวเตอร์
DS-10 มีภาคจ่ายไฟแบบสวิชชิ่งในตัว รองรับไฟเอซีผ่านเข้าทางเต้ารับ IEC (13) แต่ก๋สามารถเปลี่ยนไปใช้ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ได้ (ต้องซื้อเพิ่ม) ผ่านทางขั้วต่อ PSU IN (15)
รีโมทไร้สาย
DS-10 เปิดโอกาสให้คุณทำการควบคุมสั่งงานได้ถึง 3 ช่องทาง ทางแรกคือ ด้วยวิธีแมนน่วลผ่านปุ่ม SKC บนหน้าปัด ซึ่งทำได้ง่ายและสะดวกมาก ช่องทางที่สองคือผ่านทางรีโมทไร้สาย ซึ่งต้องค่อยๆ ทำความคุ้นเคยในการใช้งานและจดจำหน้าที่ของปุ่มต่างๆ
ส่วนช่องทางที่สามคือควบคุมผ่านทางแอพลิเคชั่นที่ชื่อว่า “GN Control” ซึ่งมีให้โหลดใช้ทั้งเวอร์ชั่น iOS บน App Store และเวอร์ชั่น Android บน Google PlayStore อันนี้สะดวกดี แนะนำให้ดาวน์โหลดแอพฯ มาใช้
แอพฯ “GN Control”
มาทำความรู้จักกับแอพ GN Control ของ Gold Note กันหน่อย..
แอพฯ GN Control เป็นแอพฯ ฟรีที่ Gold Note ใช้บริการของบริษัท coversdigital สัญชาติเกาหลี บางคนที่เคยใช้เน็ทเวิร์คเพลเยอร์บางตัวมาก่อนอาจจะคุ้นตา ที่ผมเคยทดสอบไปก็มีเน็ทเวิร์ค เพลเยอร์รุ่น Elite S ของ Magnet (REVIEW)
GN Control เป็นแอพฯ ที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งรีโมทฯ และเพลเยอร์ในตัว ภาพด้านบนเป็นหน้าตาของแอพฯ ในสถานะของ “Player” ที่โชว์รายละเอียดขณะเล่นไฟล์เพลงครบทุกส่วน รวมถึงมีฟังท์ชั่นในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลงให้ใช้ครบทั้ง Play, Pause, Stop, Skip, Repeat และ Random นอกจากนั้น บนหน้าแอพฯ ของฟังท์ชั่น “Player” ยังมีช่องทางให้คุณเปิดเข้าไปปรับตั้งการทำงานของตัว DS-10 ได้ โดยทำเป็นรูปฟันเฟืองอยู่ที่มุมซ้ายบนของหน้าแอพฯ (Device Setup)
ฟังท์ชั่นสำคัญที่คุณควรรู้และใช้บ่อยมีอยู่ 3 ฟังท์ชั่น นอกจาก “Device Setup” ที่ใช้เพื่อเข้าไปปรับตั้งค่าต่างๆ บนตัว DS-10 แล้ว ก็มีฟังท์ชั่น “Music” ที่ใช้ในการเลือกไฟล์เพลงจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมาเล่น และฟังท์ชั่น “Play To” ซึ่งเป็นการเลือกช่องทางเอ๊าต์พุตสำหรับแอพฯ ว่าจะให้ส่งสัญญาณเสียงไปที่ DAC ตัวไหน
เมื่อจิ้มลงไปที่สัญลักษณ์เครื่องหมายตกใจในวงกลม (Control Panel) ที่อยู่ตรงมุมขวาบนของหน้าแอพฯ Player หน้าแอพฯ จะเปลี่ยนเป็นแบบที่เห็นข้างบนนี้ ซึ่งในนั้นจะมีทั้งส่วนที่แจ้งให้รู้ว่าขณะนั้นตัว DS-10 ถูกปรับตั้งอะไรไว้บ้าง อย่างเช่นในภาพตัวอย่างข้างต้น แจ้งว่าขณะนั้น DS-10 กำลังทำหน้าที่เป็น DAC, ใช้เอ๊าต์พุตทาง Line Out, ใช้อินพุต Network, เลือกค่าการปรับตั้ง Preset 1, ภาคขยายหูฟังถูกปรับไว้ที่ระดับ High ซึ่งทั้งหมดนี้เราสามารถปรับเปลี่ยนผ่านแอพฯ ได้ ในขณะที่บางฟังท์ชั่นอย่างเช่น เลือกระดับความสว่างของจอต้องไปกดเลือกที่ปุ่ม SKC บนหน้าปัดเพิ่มเติม บนแอพฯ ทำได้แค่เปิด/ปิด
กรณีที่คุณเลือกให้ DS-10 ทำงานในโหมด DAC การปรับวอลลุ่มบนแอพ GN Control จะไม่มีผล ซึ่งคุณจะสามารถปรับเพิ่ม/ลดวอลลุ่มผ่านทางเครื่องหมาย -/+ ได้ก็ต่อเมื่อเลือกเอ๊าต์พุตไปที่ Pre หรือใช้หูฟัง และสามารถสั่งหยุดชั่วคราวได้โดยผ่าน MUTE ส่วนอีกสองหัวข้อที่สามารถควบคุมผ่านแอพฯ ได้คือ “Gapless” (On/Off) และ “Power Off” คือสามารถสั่งปิดเครื่องผ่านแอพฯ ได้
ที่ฟังท์ชั่น “Device Setup” มีหัวข้อให้ปรับตั้งอยู่ 5 ข้อย่อยๆ ในนั้น ทดลองจิ้มลงไปดูหัวข้อปรับตั้งใน Device Setup
ไม่ว่าคุณจะมีอุปกรณ์เน็ทเวิร์ค เพลเยอร์กี่ตัว จะถูกโชว์ขึ้นมาที่หน้านี้ ต้องการเข้าไปปรับตั้งที่ตัวไหนก็ให้จิ้มลงไปที่ตัวนั้น
มีหัวข้อให้ปรับตั้งอยู่ไม่กี่อย่าง เกือบทั้งหมดเป็นการปรับตั้งเกี่ยวกับเน็ทเวิร์ค ซึ่งหากคุณเชื่อมต่อผ่าน LAN และตั้งการเชื่อมต่อที่ router ไว้เป็น DHCP ก็ไม่ต้องปรับตั้งอะไรตรงนี้ ถ้าต้องการเปลี่ยนชื่อ DS-10 ตอนโชว์ขึ้นมาบนแอพฯ ให้จิ้มไปที่หัวข้อ “Device Name Change” จะปรากฏคีย์บอร์ดขึ้นมาให้เปลี่ยนชื่อ
แม้ว่า DS-10 จะให้อ๊อปชั่นในการเชื่อมต่อที่หลากหลาย มีขั้วต่อสัญญาณดิจิตัลครบทุกรูปแบบ แต่ช่องทางที่ผมอยากจะเน้นและพูดถึง ซึ่งเป็นอินพุตที่ให้คุณภาพเสียงสูงสุดสำหรับ DS-10 มีอยู่ 2 อินพุต นั่นคืออินพุต “NETWORK” กับอินพุต “USB DAC”
เชื่อมต่อ Gold Note DS-10
เข้ากับซิสเต็มเครื่องเสียงผ่านทางอินพุต “NETWORK”
ชาร์ตด้านบนนี้เป็นผังการเชื่อมต่อ DS-10 เข้าชุดเครื่องเสียง โดยให้ DS-10 ทำหน้าที่เป็น Network Streamer หรือ Network Player ด้วยการเชื่อมต่อตัว DS-10 เข้ากับเน็ทเวิร์ค (Ethernet) เพื่อสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตอย่างเช่น Spotify, TIDAL และ DeeZer ฯลฯ, สตรีมจากอินเตอร์เน็ท เรดิโอ รวมถึงสตรีมไฟล์เพลงจาก Local Media อย่างเช่น NAS และแฟรชไดร้ ซึ่งถ้าอยากจะใช้การเชื่อมต่อผ่านเน็ทเวิร์คแบบนี้ ที่บ้านคุณจะต้องมีการติดตั้งระบบ Home Network ด้วย ซึ่งผมแนะนำอย่างยิ่งให้ทำการเชื่อมต่อ DS-10 ด้วยวิธีนี้ เพราะคุณจะได้รับประโยชน์จาก DS-10 มากที่สุด โดยเฉพาะความสะดวกในการเล่นไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตอย่างเช่น TIDAL ที่มีเพลงให้ฟังมากมหาศาล รวมถึงความสะดวกในการเล่นไฟล์เพลงที่ไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ รวมถึงความสะดวกจากการควบคุมสั่งงานผ่านแอพลิเคชั่นด้วย
ความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงผ่านช่องอินพุต NETWORK ของ DS-10 ด้วยแอพ GN Control
เมื่อใช้แอพฯ GN Control เล่นไฟล์เพลงแล้วส่งเข้าทางอินพุตของ DS-10 จะได้ผลลัพธ์ออกมาตามตารางข้างบนนั้น คือเล่นไฟล์ทุกฟอร์แม็ตที่แพ็คด้วยสัญญาณ PCM ตั้งแต่ 44.1kHz ขึ้นไปได้จนถึงสูงสุดที่ระดับ 192kHz สูงกว่านั้นไม่เล่น ส่วนฟอร์แม็ต DSF หรือ DFF ที่แพ็คด้วยสัญญาณ DSD จะเล่นได้แค่ระดับ DSD64 และไม่ได้เล่นแบบ DSD native ด้วย แต่จะแปลงเป็น PCM ที่ระดับ 88.2kHz ก่อนส่งเข้าไปที่ภาค DAC ของ DS-10
แอพฯ GN Control จะทำการถอดรหัส MQA ให้เฉพาะไฟล์ MQA ที่สตรีมมาจาก TIDAL เท่านั้น ซึ่งสามารถเล่นได้ถึงระดับ 24/96 (สูงสุดเท่าที่หาได้จาก TIDAL) ส่วนไฟล์ MQA ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD ที่เข้ารหัสสัญญาณ 88.2kHz และ 352.8kHz แอพฯ GN Control ไม่ยอมถอดรหัส MQA ให้ เล่นได้แค่สัญญาณที่เป็น distribution file คือ 44.1kHz เท่านั้น
ความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงผ่านช่องอินพุต NETWORK ของ DS-10 ด้วยโปรแกรม roon
ผมได้รับ DS-10 มาก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 2020 (ตอนนั้นเป็นเฟิร์มแวร์ v.154) ซึ่งเป็นช่วงที่ทาง Gold Note กำลังทำเรื่องขอไปทาง roonlabs เพื่อให้ทำการตรวจสอบและปรับจูนให้ DS-10 มีคุณสมบัติเป็น Roon Ready แต่ยังไม่เสร็จกระบวนการ เมื่อผมทดลองนำ DS-10 ไปเชื่อมโยงอยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกับ roon core หลังจากเปิดแอพ roon ขึ้นมา บนแอพฯ roon ฟ้องว่าตัว DS-10 ที่ผมกำลังทดสอบนี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบ (verify) ขั้นตอนการเป็น Roon Ready ที่สมบูรณ์ คือยังไม่ได้อัพเฟิร์มแวร์ล่าสุด เมื่อผมพยายามจะเข้าไปสั่ง Enable เพื่อใช้งาน DS-10 กับ roon ผ่านทาง Network จึงใช้ไม่ได้และมีคำเตือนขึ้นมาบนแอพฯ อย่างที่เห็นในภาพข้างบน
ทาง Gold Note เพิ่งปล่อยเฟิร์มแวร์ตัวล่าสุดคือ v.173 ออกมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2020 ซึ่งเป็นเฟิร์มแวร์ที่รับรองว่า DS-10 มีคุณสมบัติตามมาตรฐานของ Roon Ready เรียบร้อยแล้ว ผมจัดการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของ DS-10 จากเดิม v.154 ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดคือ v.173 ทันที (*ใครใช้งานอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทดิจิตัลเพลเยอร์แบบนี้แนะนำให้ตรวจสอบเฟิร์มแวร์อย่างสม่ำเสมอ และให้ทำการอัพเดตเฟิร์มแวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดทุกครั้ง) หลังจากนั้น DS-10 ก็มีคุณสมบัติเป็น Roon Ready สมบูรณ์แบบ และสามารถทำงานร่วมกับ roon ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และที่น่าประทับใจมากก็คือ เสียงดีขึ้นด้วย! (*Gold Note ยังใช้วิธีอัพเดตเฟิร์มแวร์ผ่านทางคอมพิวเตอร์ แนะนำให้ดูวิดีโอแสดงขั้นตอนการอัพเดตให้เข้าใจก่อนลงมืออัพเดต ถ้าไม่มั่นใจแนะนำให้ติดต่อตัวแทนจำหน่าย)
หลังจากอัพเฟิร์มแวร์เป็นเวอร์ชั่น v.173 แล้ว ผมพบว่า โปรแกรม roon มีช่องทางส่งสัญญาณเสียงไปที่ DS-10 ได้ถึงสามช่องทาง คือทางช่อง USB-DAC ผ่านสาย USB A>B (บนสุดในภาพข้างบน), ทางเน็ทเวิร์คผ่านสาย Ethernet (ถัดลงมา) และทาง Wi-Fi ไร้สาย ผ่านเทคโนโลยี AirPlay (ล่างสุด) ซึ่งแต่ละช่องทางจะมีประสิทธิภาพในการรับ/ส่งสัญญาณเสียงต่างกัน (ผมจงใจตั้งชื่อเอ๊าต์พุตของ DS-10 ระหว่าง USB และ NETWORK ให้ต่างกัน)
เมื่อลองตรวจสอบสเปคฯ ของ DS-10 ผ่านทาง roon แจ้งว่า DS-10 มีความสามารถในการรองรับไฟล์ MQA ได้ทั้ง Decoder และ Renderer ในตัว ผมจึงทดลองเล่นไฟล์ MQA จาก TIDAL
ปรากฏว่า DS-10 สามารถ Decode และ Render ไฟล์ MQA ที่รับมาจาก TIDAL ออกมาได้สุดซอย สมบูรณ์แบบ! ได้สัญญาณเอ๊าต์พุตออกมาเป็น “Analog Out” สุดทางของฟอร์แม็ต MQA ตามมาตรฐานเป๊ะ!
จากนั้น ผมทดลองเล่นไฟล์ MQA ที่ผมริปมาจากแผ่น MQA-CD ออกมาเป็นไฟล์ WAV 16/44.1 ดูบ้าง ปรากฏว่า DS-10 ก็สามารถ Decode และ Render ไฟล์ MQA ตัวนี้ออกมาได้สุดทางอีกเช่นกัน บนหน้าจอโชว์ทั้งโลโก้ MQA และแสดงแซมปลิ้งเรตของสัญญาณอินพุตที่ระดับ 352.8kHz ชัดเจน ไร้ข้อกังขาโดยสิ้นเชิง.!!
ฟังท์ชั่น Device Setup ของ roon แจ้งว่า ที่ช่องอินพุตเน็ทเวิร์คของ DS-10 จะสามารถรองรับสัญญาณ PCM ที่แพ็คเกจมาในไฟล์ AIFF, WAV, ALAC, FLAC, MP3, OGG และ Monkey ได้สูงสุดที่ระดับ 24/192
เพื่อให้ชัดเจน ผมจึงทดลองใช้ไฟล์เพลง FLAC 24/352.8 ซึ่งเป็นไฟล์ตัวอย่างที่ดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ 2L ลองเล่นผ่านเข้าทางอินพุตเน็ทเวิร์คของ DS-10 ผลปรากฏว่า โปรแกรม roon ทำการ down converse สัญญาณ 24/352.8 ลงมาอยู่ที่ 24/176.4 ก่อนส่งให้ DS-10 ทางอินพุต Network สรุปได้ว่า ช่องอินพุต NETWORK ของ DS-10 รองรับสัญญาณ PCM ได้สูงสุดไม่เกิน 24/192 จริงๆ
แต่มีเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง คือโปรแกรม roon ไม่มีช่องที่แสดงความสามารถในการรองรับสัญญาณ DSD ของ DS-10 โชว์ขึ้นมา..?? ซึ่งปกติแล้ว roon จะมีข้อมูลแจ้งขึ้นมาให้รู้ว่า DAC ที่อยู่ตรงเอ๊าต์พุตมีความสามารถในการรองรับสัญญาณ DSD แบบไหน.? แต่น่าแปลกที่ไม่มีข้อมูลส่วนนี้แจ้งขึ้นมากับ DS-10 ??
ผลปรากฏว่า โปรแกรม roon ต้องทำการแปลงสัญญาณ DSD ให้เป็น PCM ไปที่ระดับ 24/176.4 ก่อนส่งไปให้ DS-10 ทางเน็ทเวิร์ค เป็นการยืนยันว่า อินพุต NETWORK ของ DS-10 ไม่รองรับสัญญาณ DSD แบบ native นั่นเอง
เชื่อมต่อ Gold Note DS-10 เข้ากับซิสเต็มเครื่องเสียงผ่านทางอินพุต “USB DAC”
ถ้าบ้านคุณไม่มีระบบเน็ทเวิร์ค ก็ไม่ใช่ปัญหาในการใช้งาน DS-10 เพราะ DS-10 ยังมีช่องอินพุตอีกหลายรูปแบบให้คุณเลือกใช้งาน จากผังด้านบนนี้คือการเชื่อมต่อใช้งาน DS-10 กับชุดเครื่องเสียงโดยให้ DS-10 ทำหน้าที่เป็น external DAC ส่วนหน้าที่ในการเล่นไฟล์เพลงก็อาศัยโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงบนคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่ให้ แล้วส่งผ่านสัญญาณดิจิตัลจากคอมพิวเตอร์มาที่ DS-10 ผ่านทางอินพุต USB DAC ของ DS-10 ด้วยสาย USB A>B หรือถ้าคุณไม่ถนัดที่จะใช้คอมพิวเตอร์ก็ยังสามารถใช้เครื่องเล่นแผ่นซีดี ทรานสปอร์ต (หรือซีดี เพลเยอร์ / หรือเครื่องเล่นดีวีดี) เล่นแผ่นซีดีแล้วส่งสัญญาณดิจิตัล PCM จากแผ่นซีดีตรงเข้าที่อินพุต Coaxial หรือ Optical ของ DS-10 ก็ได้
สำหรับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัตการณ์ Windows คุณต้องไปดาวน์โหลดไดเวอร์ของ DS-10 มาลงบนคอมพิวเตอร์ของคุณก่อน (ไปที่ ลิ้งค์ นี้) ส่วนคอมพิวเตอร์ Mac กับ Linux ไม่ต้องลงไดเวอร์ ผมใช้ roon nucleus+ ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติากรณ์ Linux ในการเล่นไฟล์เพลงเพื่อทดสอบกับ DS-10 ทางช่องอินพุต USB DAC ของ DS-10 จึงไม่ต้องลงไดเวอร์ใดๆ หลังจากต่อเชื่อมสาย USB A>B จาก nucleus+ ไปที่อินพุต USB-type-B ของ DS-10 แล้ว ฟังท์ชั่น Device Setup ของโปรแกรม roon แจ้งว่า DS-10 สามารถรองรับสัญญาณตระกูล PCM เข้าทางอินพุต USB DAC ได้สูงสุดถึงระดับ 32/384 และสามารถรองรับสัญญาณตระกูล DSD ได้สูงถึงระดับ DSD128 ด้วยฟอร์แม็ต DoP และสามารถ Decode และ Render ไฟล์ MQA ได้ด้วย
ผมทดลองเล่นไฟล์ FLAC 24/352.8 ซึ่งเป็นไฟล์ตัวอย่างที่ดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์ 2L ส่งเข้าอินพุต USB DAC ของ DS-10 ปรากฏว่า ช่องอินพุต USB-DAC ของ DS-10 สามารถรองรับสัญญาณ 24/352.8 ได้ฉลุยเลย.! ไม่มีอาการอึกอักใดๆ เสียงก็ออกมาดีมากๆ เปิดโล่งและผ่อนคลายเต็มที่ เนื้อเสียงเนียนและต่อเนื่องไร้รอยต่อ แสดงถึงศักยภาพที่เยี่ยมยอดของชิป AK4493 ออกมาได้อย่างหมดจด
เมื่อลองเล่นไฟล์ DSF64 และ DSF128 บน roon ผ่านเข้าทางอินพุต USB DAC ของ DS-10 พบว่า อินพุต USB DAC ของ DS-10 สามารถรองรับสัญญาณ DSD ได้สูงถึง DSD128 แบบเต็มๆ โดยไม่มีการลดรูปลงแต่อย่างใด แต่เมื่อทดลองเล่นไฟล์ DSF256 เข้าไป พบว่า โปรแกรม roon ต้องช่วยทำ การลดรูปสัญญาณ DSD จาก DSD256 ให้ลงมาอยู่ที่ระดับ DSD128 ก่อนจะนำไปแพ็คเป็นฟอร์แม็ต DoP แล้วส่งไปให้ DS-10 ทำการแปลงเป็นสัญญาณอะนาลอก ก็เป็นพยานยืนยันได้ชัดเจนว่าช่องอินพุต USB DAC ของ DS-10 รองรับสัญญาณ DSD ได้สูงสุดแค่ DSD128 เท่านั้น (ทั้งๆ ที่ความสามารถของชิป AK4493 รับได้สูงถึง DSD512 เข้าใจว่าทาง Gold Note คงจะทดสอบดูแล้วพบว่าให้ชิปทำงานแค่ระดับ DSD128 ได้ผลทางเสียงดีกว่าฝีนขึ้นไปทำงานในระดับที่สูงสุดความสามารถของมัน / ผู้ทดสอบ)
แล้วก็มาเจอเรื่องแปลกๆ ตอนผมลองเล่นไฟล์เพลง MQA กับ DS-10 ผ่านอินพุต USB DAC คือหน้าจอของโปรแกรม roon แจ้งว่า ทาง roon จัดส่งสัญญาณไปให้อินพุต USB DAC ของ DS-10 ตามที่อยู่ในไฟล์ MQA ทั้งหมด แต่บนหน้าจอของ DS-10 กลับโชว์แค่ PCM 44.1kHz สำหรับไฟล์ MQA ที่เข้ารหัสมาจากสัญญาณต้นฉบับ 88.2/176.4/352.8 และโชว์แค่ PCM 48kHz สำหรับไฟล์ MQA ที่เข้ารหัสมาจากสัญญาณต้นฉบับ 96/192/384 พูดง่ายๆ คือ DS-10 ไม่คลี่ MQA ให้ เมื่อเล่นไฟล์ MQA เข้าทางอินพุต USB DAC น่าแปลกมาก.??? เพราะหน้าแอพฯ ของ roon ก็โชว์ทุกอย่างปกติ ซึ่งที่หน้าจอของ DS-10 ก็ควรจะโชว์เรโซลูชั่นของสัญญาณสูงสุดตามที่อยู่ในแพ็คเกจ MQA และควรจะมีโลโก้ MQA โผล่ขึ้นมาด้วย.. แต่นี่กลับไม่มี..??? ผมไม่แน่ใจว่าเป็น bug ของเฟิร์มแวร์ตัวใหม่ v.173 หรือเปล่า.??? (*ตรงจุดนี้ผมได้ส่งข้อมูลสอบถามไปทางผู้ผลิตแล้ว ยังรอคำตอบอยู่ เมื่อได้คำตอบมาแล้วจะอัพเดตให้ทราบกันต่อไป)
ถ้าจะสรุปจากที่ได้ทดลองเล่นครั้งนี้ ดูเหมือนว่าทางผู้ผลิตคือ Gold Note ตั้งใจจะแบ่งแยกการใช้งานอินพุต USB DAC กับช่องอินพุต NETWORK ให้มีจุดเด่นไปคนละทาง คือใครที่ต้องการเสพคุณภาพจากไฟล์เพลงที่สตรีมมาจากอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะ ให้ไปเลือกใช้อินพุต NETWORK เป็นหลัก ส่วนใครที่ต้องการเน้นการเล่นไฟล์เพลงของตัวเองที่เก็บไว้ในฮาร์ดดิส โดยเฉพาะคนที่เก็บไฟล์ DSD เอาไว้เยอะๆ แนะนำให้ใช้อินพุต USB DAC เป็นหลัก ส่วนใครที่มีความประสงค์จะครอบครองจักรวาล แนะนำให้หาวิธีใช้งานทั้งสองอินพุต (ผมใช้ roon nucleus เป็นทรานสปอร์ต จึงไม่มีปัญหาเพราะมันเล่นได้ทั้งทาง USB และ NETWORK)
ส่วนอินพุตอีก 3 อินพุตที่เหลือของ DS-10 คือ AES/EBU, Coaxial และ Optical รองรับสัญญาณ PCM ได้ถึงระดับ 24/192 ไม่รองรับสัญญาณตระกูล DSD
การสตรีมสัญญาณผ่านระบบไร้สาย Wi-Fi และ Bluetooth กับ DS-10
ในกรณีที่คุณเชื่อมต่อ DS-10 เข้ากับระบบ Home Network ที่มีโมเด็มออกสู่อินเตอร์เน็ต คุณสามารถสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตผ่านทางแอพลิเคชั่นที่ทำงานบนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ DS-10 ผ่านเน็ทเวิร์คได้ ไม่ว่าจะเป็นแอพฯ GN Control หรือ roon แต่ถ้าคุณไม่ได้เชื่อมต่อ DS-10 เข้ากับเน็ทเวิร์ค คุณก็ยังสามารถสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการบนอินเตอร์เน็ตแล้วส่งสัญญาณเสียงไปที่ DS-10 ได้ โดยใช้แอพฯ ของผู้ให้บริการ อย่างเช่น Spotify หรือ TIDAL ในการเล่นไฟล์เพลง แล้วส่งสัญญาณเสียงไปที่ DS-10 ผ่านทาง Bluetooth แทน
แน่นอนว่า การส่งสัญญาณเสียงจากการสตรีมไฟล์เพลงจาก TIDAL หรือ Spotify ผ่านทางเน็ทเวิร์ค ไปที่ DS-10 จะให้คุณภาพเสียงออกมาดีกว่าส่งผ่านจากมือถือไปที่ DS-10 ผ่านทาง Bluetooth ซึ่งหากว่าคุณคิดจะหวังผลลัพธ์สูงสุดจากการสตรีมไฟล์เพลงจากผู้ให้บริการเหล่านี้ ผมแนะนำให้ติดตั้งระบบโฮมเน็ทเวิร์คเพื่อใช้งานร่วมกับ DS-10 ดีกว่า เสียงที่ได้จะดีกว่ามาก โดยเฉพาะเมื่อสตรีมไฟล์ MQA จาก TIDAL มาที่ DS-10 ผ่านเน็ทเวิร์ค ซึ่ง DS-10 จะทำหน้าที่ “คลี่คลาย” สัญญาณไฮเรซฯ ออกมาจากไฟล์ MQA ให้คุณได้แบบสุดซอย! (*ถ้าเล่นบนมือถือด้วยแอพฯ ของ TIDAL แล้วส่งสัญญาณไปที่ DS-10 ผ่าน Bluetooth จะไม่ได้มรรคผลเต็มที่จาก MQA)
แต่ก็ใช่ว่า Bluetooth ของ DS-10 จะไร้น้ำยา เพราะมันเป็น Bluetooth เวอร์ชั่น 5.0 ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถส่งผ่านสัญญาณได้ถึงระดับ 44.1/16 ให้เสียงออกมาดีพอสมควร ที่สำคัญคือเล่นง่ายและสะดวก
ดีไซน์ภายใน
สำหรับอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทที่เป็น digital product อย่าง Network Player หรือ external DAC คุณจะเอาขนาดรูปร่างภายนอกมาวัดประสิทธิภาพของมันไม่ได้ เพราะอุปกณ์เครื่องเสียงเหล่านี้ใช้พื้นฐานการออกแบบบนชิป IC (Integrated Circuit) ที่เอาวงจร discrete ขนาดใหญ่มาย่อส่วนลงบนชิปขนาดเล็ก ซึ่งหากนำชิปที่อยู่ในตัวอุปกรณ์เหล่านี้ออกมา “ขยาย” กลับไปเป็นวงจรแบบ discrete หรือวงจรต้นแบบตอนที่มันถูกออกแบบมาก่อนจะนำไปย่อส่วนเป็นชิป คุณจะได้เครื่องเสียงขนาดมหึมา.! ที่ประกอบด้วยการทำงานของวงจรอิเล็กทรอนิคที่ซับซ้อน
จากรูปข้างบนนั้น จะเห็นว่า ภายในตัว DS-10 มีส่วนประกอบที่เป็นชิป IC อยู่จำนวนมาก แยกการทำงานออกเป็นส่วนๆ อย่างเช่นภาครับคลื่น Bluetooth และภาครับคลื่น Wi-Fi รวมถึงภาคเน็ทเวิร์คแบบใช้สาย (Ethernet) ก็ใช้โมดูลแยกต่างหากออกมา ส่วนของแอมป์ขยายหูฟังก็มีภาควอลลุ่มแยกออกมาจากภาควอลลุ่มของปรีแอมป์ ภาคอินพุต USB ก็มีแผงวงจรแยกการทำงานออกมาต่างหาก ซึ่งทำหน้าที่ในการจัดการกับสัญญาณก่อนส่งให้ภาค DAC ซึ่งใช้ชิปของ AKM เบอร์ AK4493 เป็นหัวใจหลักของระบบ D-to-A converter
ฟังท์ชั่นพิเศษ.!!!
The Chameleon Mode
ภาค DAC ของ DS-10 มีชื่อเรียกนิคเนมว่า “Chameleon” หรือ “กิ้งก่า” ซึ่งเหตุผลที่ทางผู้ผลิตเรียกภาค DAC ของ DS-10 ด้วยชื่อนี้ก็เพราะว่า มันเป็นภาค DAC ที่สามารถ “เปลี่ยนเสียงได้” เหมือนกิ้งก่าเปลี่ยนสีนั่นเอง.!
เปลี่ยนเสียงได้ยังไง.? นี่แหละคือไฮไล้ท์ของ DS-10 ตัวนี้ ฟังท์ชั่นพิเศษที่ DS-10 ให้มาเพื่อการ “เปลี่ยนเสียง” ที่ว่านี้มีชื่อว่า “Chameleon Mode” โดยผู้ผลิตให้คำอธิบายฟังท์ชั่นนี้ไว้ว่า “.. This special feature changes the character of the DAC and allows you to completely adapt it to either the music reproduced or your own personal taste, without affecting the quality of the audio signal”
“.. ฟังท์ชั่นพิเศษนี้จะเปลี่ยนบุคลิกของ DAC และเปิดโอกาสให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนมัน (DAC) ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เหมาะสมกับแนวของเพลง หรือตามโทนเสียงที่คุณชอบ โดยไม่ส่งผลกระทบกับคุณภาพของสัญญาณเสียงแต่อย่างใด” อ่าาา… ประโยคที่ว่า “.. โดยไม่กระทบกับคุณภาพของสัญญาณเสียงแต่อย่างใด” มันสะดุดหูมากเป็นพิเศษ และทำให้สงสัยว่า ปรับแต่งได้แต่ไม่กระทบคุณภาพของสัญญาณเสียง ทำได้อย่างไร.?
เคล็ดลับของ DS-10 ก็คือ Chameleon Mode เป็นฟังท์ชั่นที่ทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงตัวแปรบางตัวที่ “กำหนด” ให้ชิป D/A ทำการแปลงสัญญาณดิจิตัลให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอก พูดง่ายๆ คือ เป็นฟังท์ชั่นที่ไปส่งผลควบคุมการทำงานของชิป AK4493 โดยไม่ไปกระทำอะไรกับสัญญาณอินพุตนั่นเอง
ภาพด้านบนนั้นแสดงหน้าจอของ DS-10 ขณะทำงาน ก่อนจะอธิบายการทำงานของฟังท์ชั่น Chameleon Mode เราไปดูกันว่าแต่ละส่วนบนจอนั้นมีความหมายอย่างไร.?
ทั้งหมดที่เห็นด้านบนนี้คือสิ่งที่แสดงอยู่บนหน้าจอของ DS-10 ซึ่งคุณสามารถปรับเปลี่ยน/ปรับตั้งได้ทั้งหมดโดยการใช้รีโมทฯ หรือใช้ปุ่ม SKC บนหน้าปัด หรือปรับตั้งผ่านแอพฯ GN Control ก็ได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับตั้งค่าของฟังท์ชั่น Chameleon Mode จะอยู่ที่มุมล่างขวาสุดของหน้าจอ นั่นคือการปรับเลือกค่า “PRESET” ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด 5 ตัวเลือก คือ PRESET 1, PRESET 2, PRESET 3, OFF และ SETUP ตัวเลือก PRESET ทั้งสามตัวนั้นก็คือเมมโมรี่ที่ใช้เก็บค่าที่เราทำการปรับตั้งเอาไว้เลือกฟังได้ทั้งหมด 3 ชุด ส่วนหัวข้อ “OFF” เป็นการเลือกใช้ลักษณะการปรับตั้งที่มาจากโรงงาน (เรียกว่า Standard Mode หรือ Factory Setup)
หัวข้อ “SETUP” คือช่องทางเข้าไปทำการปรับตั้งค่าของ The Chameleon Mode เพื่อปรับแต่งการทำงานของชิป AK4493
เมื่อกดลงไปบนปุ่ม SKC เพื่อเลือกที่หัวข้อ SETUP จะปรากฏหน้าต่างซ้อนขึ้นมาบนจอ ทับหน้าต่างเดิม ในนั้นมีพารามิเตอร์ให้ปรับตั้ง 3 หัวข้อ คือ PCM EQ, DEE และ DAC PWR
PCM EQ = คือวงจรดิจิตัลฟิลเตอร์ประเภท Low-pass filter ซึ่งส่งผลเฉพาะสัญญาณ PCM ไม่ส่งผลกับสัญญาณ DSD มีอ๊อปชั่นให้ปรับเลือกใช้ 7 รูปแบบ ตั้งแต่ 0 – 6
DEE = มาจาก De-emphasis เป็นการออกแบบมาเพื่อให้ได้ค่า S/N ratio ที่ดีขึ้นด้วยการปรับตั้ง roll-off ของความถี่สูง มีให้เลือก 4 ค่า ซึ่งในตัว DS-10 จะส่งผลกับสัญญาณ PCM ที่มีอัพแซมปลิ้ง 88.2kHz และมีให้เลือกใช้ 2 รูปแบบสำหรับสัญญาณ DSD
DAC PWR = การกำหนดกระแสไฟเลี้ยงให้กับชิป DAC ซึ่งมีให้เลือก 7 อ๊อปชั่นที่ให้ปริมาณกระแสไฟที่ต่างกัน เริ่มจาก 0 = 34mA (มาจากโรงงาน), 1 = 31.7mA, 2 = 32.1mA, 3 = 32.3mA, 4 = 32.6mA, 5 = 31.6mA, 6 = 32mA และ 7 = 34.4mA
การปรับตั้งค่าทั้งสามพารามิเตอร์ข้างต้นจะส่งผลแยกจากกันก็ได้ โดยเลือกปรับข้อใดข้อหนึ่งแล้วเลือกอีกสองข้อไว้ที่ 0 (ค่าจากโรงงาน) หรือจะเลือกปรับตั้งให้ผสมกันก็ได้ ซึ่งคุณ Tom Dolfi ซึ่งเป็นมาเก็ตติ้ง ไดเร็คเตอร์ของ Gold Note แนะนำมาในอีเมลว่า ให้ทำการทดลองปรับตั้งค่า PCM EQ ก่อน จนได้เสียงที่พอใจ แล้วค่อยไปปรับตั้งที่ DEE กับ DAC PWR ตามมา เพราะ PCM EQ จะส่งผลกับเสียงมากกว่าอีกสองพารามิเตอร์ที่ส่งผลน้อยกว่า ซึ่ง DEE กับ DAC PWR เอาไว้แม็ทชิ่งกับอินพุตของแอมป์ที่จะต่อเชื่อมกับ DS-10 เป็นหลัก รวมความแล้ว คุณสามารถผสมผสานการตั้งค่าทั้ง 3 พารามิเตอร์ออกมาได้ค่าที่แตกต่างกันมากกว่า 200 รูปแบบ ถือเป็นการ fine-tune เสียงที่ละเอียดมาก.!!
คุณ Tom Dolfi ยังได้ให้ความหมายของ PCM EQ ทั้งหมดเอาไว้ตามนี้
0 = รูปแบบของ LPF (Low-Pass Filter) ที่กำหนดมาจากโรงงาน
1. (natural tone) = super slow roll-off
2. (acoustic tone) = short delay with slow roll-off, with a group delay of 5.3/Fs
3. (traditional tone) = slow roll-off
4. (harmonic sound) = short delay with low dispersion
5. (acoustic sound) = short delay with sharp roll-off, with a group of delay of 6.25/Fs
6. (traditional sound) = sharp roll-off
เป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิต DAC ยอมให้คุณเข้าไปปรับจูนเสียงของชิป DAC (AK4493) ด้วยตัวของคุณเอง ไม่ถือวิสาสะเลือกให้แบบมัดมือชก เหลือแต่ตัวของคุณเองแล้วล่ะว่าอยากจะ custom เสียงของ DS-10 หรือไม่.? ถ้ายังกล้าๆ กลัวๆ ก็แนะนำให้เลือกปรับตั้งฟังท์ชั่นนี้ไว้ที่ตำแหน่ง “OFF” แล้วฟังไปจนกว่าความกล้าจะบังเกิด.!!!
เตรียมซิสเต็มเพื่อการทดสอบ
DS-10 ให้เอ๊าต์พุตออกมา 3 รูปแบบ คือ Line Out/Fixed, Pre/Variable (ผ่านวอลลุ่ม) และ Headphone Output ผมจึงเตรียมอุปกรณ์ไว้ทดสอบในแต่ละเอ๊าต์พุต
ช่วงแรกผมทดสอบเอ๊าต์พุตที่เป็น Line Out ของ DS-10 เป็นอันดับแรก ซึ่ง Line Out ที่เป็นสัญญาณแบบ fixed เกน โดยมีให้เลือกใช้ 2 ชุด เป็นสัญญาณซิงเกิ้ลเอ็นด์ผ่านขั้วต่อ RCA หนึ่งชุด ด้วยความแรงสัญญาณอยู่ที่ 1 โวลต์ กับสัญญาณบาลานซ์ผ่านขั้วต่อ XLR อีกหนึ่งชุด โดยมีความแรงของสัญญาณอยู่ที่ 2 โวลต์ ผมเตรียมอินติเกรตแอมป์ของ Cambridge Audio รุ่น CXA61 (REVIEW) ไว้ทดลองฟังกับเอ๊าต์พุตซิงเกิ้ลเอ็นด์ของ DS-10 และเตรียมปรี+เพาเวอร์แอมป์ของ Ayre Acoustic รุ่น K-5 + V-3 ไว้ทดลองฟังกับเอ๊าต์พุตบาลานซ์ของ DS-10 และสลับเอาเพาเวอร์แอมป์ V-3 มาจับกับสัญญาณ Pre-out ของ DS-10 ด้วย ปรากฏว่า เกนของสัญญาณเอ๊าต์พุต PRE ของ DS-10 ให้มาแรงพอที่จะใช้แม็ทชิ่งกับเกนอินพุตของเพาเวอร์แอมป์ Ayre Acoustic รุ่น V-3 และด้วยการแบ่งขั้นของวอลลุ่มที่ละเอียดถึง 0.5dB ต่อสเต็ป ทำให้สามารถแม็ทชิ่ง Level ระหว่างเอ๊าต์พุตของ DS-10 กับอินพุตของเพาเวอร์แอมป์ได้สบายๆ ถ้าคุณไม่ได้มีอินพุตอะนาลอกอื่นใดนอกเหนือจาก source ที่เป็นดิจิตัลแล้ว ภาคปรีแอมป์ของ DS-10 จะทำให้คุณสามารถประกอบร่างซิสเต็มเครื่องเสียงที่ทรงประสิทธิภาพขึ้นมาได้อย่างเรียบง่าย ส่วนลำโพงที่ใช้ทดลองฟัง DS-10 ครั้งนี้มีอยู่ 3-4 คู่ เริ่มตั้งแต่ Wharfedale รุ่น Diamond 12.1 ต่อด้วย Monitor Audio รุ่น Silver 100 (REVIEW) และ Totem Acoustic รุ่น Skylight ก่อนจะตบท้ายด้วย Totem Acoustic รุ่น The One
และสุดท้าย ผมใช้หูฟังฟูลไซร้ลองฟังกับภาคขยายหูฟังของ DS-10 สามตัว ไล่ตั้งแต่ขับง่ายสุดคือ beyerdynamic รุ่น T1 Gen.3 (32 โอห์ม) และระดับปานกลางอย่าง AKG รุ่น K702/65th (62 โอห์ม) ก่อนจะตบท้ายด้วยหูฟังกินกระแสโหดๆ อย่าง Sennheiser รุ่น HD650 (300 โอห์ม) ผลก็ปรากฏว่า ภาคขยายหูฟังของ DS-10 รับมือกับหูฟังทั้งหมดนั้นได้อย่างสบาย สองตัวแรกคือ T1 Gen.3 กับ K702/65th ได้เสียงที่ดีเมื่อปรับตั้งเกนของภาคขยายหูฟังไว้ที่ LOW ในขณะที่ HD650 ต้องการเกนขยายระดับ HIGH จึงได้เสียงที่หลุดลอยและเป็นอิสระ
ลักษณะเสียงของ DS-10
การทดลองฟังช่วงแรก ผมใช้แอพฯ GN Control ของ Gold Note เองในการควบคุมการเล่นไฟล์เพลง ก่อนจะทดลองเปลี่ยนมาใช้ roon ในตอนท้ายๆ ของการทดลองฟัง
ก่อนอื่นต้องขอบอกว่า เสียงของ DS-10 จะมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะการปรับตั้งของ Chameleon Mode ซึ่งจากการเลือก PCM EQ เพื่อทดลองฟังทั้งหมดแล้ว ผมพบว่าอ๊อปชั่น หมายเลข 2 กับ หมายเลข 3 ให้เสียงที่ฟังแล้วถูกจริตผมมากที่สุด คือตัวหมายเลข 2 นั้น ให้โฟกัสของหัวเสียงออกมาคมกว่าหมายเลข 3 แต่หางเสียงสั้นกว่า จบเร็วกว่านิดนึง ตอนฟังกับลำโพงตัวเล็กๆ ที่จำกัดปริมาณความถี่ต่ำอย่าง Wharfedale รุ่น Diamond 12.1 กับ Totem Acoustic รุ่น Skylight ผมชอบเสียงที่ได้จากหมายเลข 3 มากกว่า เพราะมันให้เนื้อมวลหนากว่าและทอดหางเสียงยาวกว่า ในขณะที่ลดความชัดเปรี๊ยะของโฟกัสลงมานิดนึง ทุกอย่างเลยออกมากำลังดี นี่คือมรรคผลของการปรับแต่งเสียงผ่าน Chameleon Mode ของตัว DS-10 แต่เมื่อลองฟังกับลำโพง Monitor Audio รุ่น Silver 100 กับ Totem Acoustic รุ่น The One ผมชอบปรับตั้ง PCM EQ ไว้ที่ตำแหน่ง 2 เพราะมันให้หัวเสียงอิมแพ็คที่ชัดเจน ติดตามตัวโน๊ตได้ง่าย และไทมิ่งของเพลงก็ออกมาได้ค่าเฉลี่ยที่ดีระหว่างเพลงช้ากับเพลงเร็ว พื้นเสียงใสกระจ่าง หางเสียงเก็บตัวได้กระชับเร็ว สปีดจึงออกมาดีไม่อืดช้า
โทนเสียงของ DS-10 มีความจะแจ้งและเปิดเผย มันให้ความรู้สึกเหมือนฟังการบรรเลงจริงมากกว่าฟังจากแผ่น ความถี่ตลอดย่านมีสัดส่วนที่ไม่เหลื่อมล้ำกันจนรู้สึก เพราะมันสามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนทุ้ม–กลาง–แหลมไปตามเพลงที่ฟังได้ตลอดเวลา ยิ่งฟังไปนานๆ ก็ยิ่งจับโทนเสียงของมันไม่ได้ เพราะอัตราส่วนของความถี่ทุ้ม–กลาง–แหลมจะถูกเฉลี่ยไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้ว ผมควรจะพูดว่า DS-10 ไม่มีโทนเสียงของตัวเอง ซึ่งโดยส่วนตัวผมยกให้เป็นคุณสมบัติเด่น เป็นอุดมคติ ถือเป็นความสามารถเชิงบวกสำหรับอุปกรณ์เครื่องเสียงทุกชนิด และเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งยวดสำหรับอุปกรณ์เครื่องเสียงประเภทที่เป็น source เพราะเป็นต้นทางของสัญญาณ เพราะเมื่อต้นทางไม่แสดงบุคลิกของตัวมันเองออกมา จึงทำให้เสียงเพลงที่มันส่งผ่านออกมาเป็นไปตามลักษณะการบันทึก/มิกซ์และมาสเตอร์มากที่สุด ปราศจากสีสรรเจือปน โดยเฉพาะสีสันที่หูของเราอยากได้ยิน
หลังจากได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ DS-10 นานแรมเดือน ผมได้มีโอกาสทดลองปรับจูน Chameleon DAC เพื่อให้ได้ลักษณะเสียงที่ผมต้องการอยู่นาน ซึ่งผมพบว่า ผลจากการปรับแต่งมันไม่ได้มากมายถึงขนาดทำให้เสียงโดยรวม “หลุด” ไปจากมาตรฐานของตัวมันเอง และเป็นไปตามที่คุณ Tom Dolfy บอกไว้ คือตัว PCM EQ เป็นพารามิเตอร์ที่ส่งผลต่อเสียงโดยรวมมากที่สุดในจำนวน 3 พารามิเตอร์ที่มีมาให้ปรับจูน คุณจะสามารถรับรู้ถึงความแตกต่างได้ง่ายที่สุด ซึ่งผมคิดว่า แต่ละประเภทของ PCM EQ ที่ให้มานั้น มันมีความเหมาะสมกับซิสเต็มที่แตกต่างกัน มันเหมือนกับการเข้าไป fine tune ในส่วนย่อยของซิสเต็มให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น คุณต้องทดลองปรับแล้วฟังไปเรื่อยๆ จะค่อยๆ รู้สึกถึงผลของมันและจับทางมันได้ในที่สุด สำหรับความเห็นของผม ผมคิดว่ามันเป็นฟังท์ชั่นที่มีประโยชน์ (ถ้าคุณยังไม่ชำนาญ สามารถตั้งเป็น OFF ได้ จะได้เสียงที่โรงงานจูนมาให้)
อีกหนึ่งอ๊อปชั่นที่ผมชอบมากและแนะนำเป็นอันขาดสำหรับคนที่ต้องการประสิทธิภาพสูงสุดจาก DS-10 นั่นคือใช้ LPS รุ่น PSU-10 EVO ในการจ่ายไฟเลี้ยงให้กับ DS-10 แทนภาคจ่ายไฟแบบสวิทชิ่งที่อยู่ในตัว DS-10 ซึ่งมันมีผลกับคุณภาพเสียงโดยรวมมากกว่า 20% มันเหมือนกับภาพที่ดูเลือนลางในตอนแรกถูกทำให้มีความเข้มข้นของสีสันและรูปทรงมากยิ่งขึ้น ม่านหมอกบางๆ ถูกขจัดหายไป มวลของตัวเสียงกอปรไปด้วยความอัดแน่นมากขึ้น รับรู้ถึงความเป็น “ทรวดทรง” และ “ตัวตน” ของแต่ละตัวเสียงได้ชัดเจนมากขึ้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก.!
สรุป
เครื่องเสียงที่ขึ้นชื่อว่า “ดี” ส่วนใหญ่จะให้เสียงที่เราชอบมากในตอนแรก แต่หลังจากใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ความชอบของเราจะเริ่มลดลง เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งเป็นเพราะว่า ทักษะในการฟังของเราเริ่มพัฒนาขึ้นจนก้าวข้ามเครื่องเสียงชิ้นนั้นไป และเริ่ม “มองเห็น” บางสิ่งที่เรายังไม่พอใจปรากฏออกมาชัดขึ้น
ถ้าเป็น DAC ตัวอื่น คุณก็ต้องเปลี่ยนตัวใหม่ที่สามารถให้เสียงที่ตอบโจทย์ความต้องการในการฟังของคุณขึ้นไปอีกขั้น แต่กับ DS-10 ตัวนี้ มันเปิดโอกาสให้คุณเข้าไปปรับแต่ง “บุคลิกเสียง” ได้ โดยไม่ทำให้ “คุณภาพเสียง” โดยรวมแย่ลง คุณสามารถปรับเสียงของ DS-10 ให้ก้าวคู่ไปกับทักษะการฟังของคุณที่พัฒนาไปทีละขั้นได้ นี่คือ ความเยี่ยมยอดของ Streaming DAC จากประเทศอิตาลีตัวนี้! /
********************
ราคา :
DS-10 = 99,000 บาท / เครื่อง
PSU-10 EVO = 49,000 บาท / เครื่อง
********************
สั่งซื้อ ผ่อน 0%
https://shopee.co.th/product/46896697/3273771868/