fbpx

รีวิวเครื่องเสียง NuPrime รุ่น Omnia SW-8 เน็ทเวิร์ค สวิตช์ ที่มาพร้อมภาคกรองสัญญาณรบกวนจากอินเตอร์เน็ต + LPS-205 ลิเนียร์เพาเวอร์ซัพพลาย

ฟังเพลง format ไหนเสียงดีที่สุดสำหรับออดิโอไฟล์
November 20, 2020
NUPRiME IDA 8 Integrated map
รีวิว NuPrime IDA-8 อินทิเกรตแอมป์ เล็กพริกขี้หนู
December 18, 2020

ทุกสิ่ง” ที่เกี่ยวข้องกับชุดเครื่องเสียงที่ใช้ฟังเพลง จะมีผลกับคุณภาพเสียงทั้งหมด แม้ว่า “สิ่งนั้น” จะดูเหมือนอยู่ห่างออกไปจากชุดเครื่องเสียงหลักก็ตาม นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ถ้าใครที่มีความคิดว่ายอมรับข้อเท็จจริงเหล่านี้ไม่ได้ เป็นความยุ่งยากลำบากใจ เห็นทีจะต้องตัดใจจากกิจกรรมการ “เล่นเครื่องเสียง” เป็นทางเดียวที่จะหลีกหนีจากข้อเท็จจริงนี้ไปได้

ทว่า สำหรับคนที่ตั้งใจกระโจนเข้ามาเล่นเครื่องเสียงเพราะถือว่าเป็นงานอดิเรกที่รักที่ชอบ กลับมองว่า ข้อเท็จจริงเหล่านี้คือเบาะแสที่พวกเขาจะต้องทำความเข้าใจและหาวิธีจัดการกับมัน หาวิธีปราบมันให้อยู่หมัด เพื่อผลลัพธ์ของเสียงที่ดีที่สุด!

Network Switch” อีกหนึ่งด่านที่เกี่ยวข้องกับเสียง

Network Audio ยังเป็นเรื่องใหม่ ยังมีเงื่อนไขอีกหลายอย่างที่รอคอยให้นักเล่นฯ ค้นพบและหาทางจัดการกับมันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของเสียงที่ดีเป็นรางวัล ระบบเพลย์แบ็คของ Network Audio มีความแตกต่างจากเครื่องเล่นซีดีที่เราใช้กันในยุคก่อน คือมีความซับซ้อนมากกว่า เนื่องจาก Network Audio เป็นระบบที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ทำงานร่วมกัน โดยมีสัญญาณ “Network” ทำหน้าที่เชื่อมโยงในการรับ/ส่งทั้งสัญญาณคำสั่งและสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของ “ข้อมูลดิจิตัล” ให้กับอุปกรณ์ทุกตัวที่อยู่ในเน็ทเวิร์ควงเดียวกัน การเชื่อมโยงที่ว่ามีทั้งทางสาย Ethernet และไร้สาย Wi-Fi

ภาพข้างบนนี้เป็นการจำลองระบบเพลย์แบ็ค Network Audio สองแบบ แบบแรกคือระบบที่ไม่มี Network Switch (ซ้าย) กับแบบที่สองคือมี Network Switch (ขวา)

ในทุกๆ ระบบ Network Audio จะต้องมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “router” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจ่ายสัญญาณเน็ทเวิร์คให้กับอุปกรณ์ทุกชิ้นในระบบเพื่อให้อุปกรณ์ทั้งหมดสามารถสื่อสารและรับ/ส่งสัญญาณเสียงระหว่างกันได้ นอกจาก router แล้ว อุปกรณ์ที่ต้องมีในระบบ Network Audio อีกตัวก็คือ “network streamer” ซึ่งมีหน้าที่ 2 ประการ ประการแรกคือรับไฟล์เพลงจากแหล่งเก็บไฟล์เพลงที่อยู่ในเน็ทเวิร์คเดียวกันเข้ามาในตัวและทำการจัดการ (เล่น) กับไฟล์นั้นเพื่อดึงสัญญาณเสียงที่อยู่ในไฟล์นั้นออกมา กับอีกหน้าที่ของ network streamer ก็คือ ทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณดิจิตัลให้ออกมาเป็นสัญญาณอะนาลอกด้วยภาค DAC ซึ่งในตลาดเครื่องเสียงทุกวันนี้ มี “network streamer” อยู่ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกเรียกว่า all-in-one คือเป็นเครื่องที่มีทั้งส่วนที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลง กับส่วนที่เป็น DAC อยู่ในตัวเดียวกัน ส่วนอีกรูปแบบคือ “network player transpot” หรือเรียกสั้นๆ ว่า network transport ก็ได้ ตัวนี้ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงอย่างเดียว ต้องใช้ร่วมกับ DAC ที่แยกส่วนเด็ดขาดออกไป

โดยปกติแล้ว router สามารถส่งสัญญาณเน็ทเวิร์คมาที่ตัว network streamer หรือตัว network player transpot ได้โดยตรง ผ่านทางสาย Ethernet หรือไร้สายด้วยคลื่น Wi-Fi ก็ได้ แต่ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว ระบบเน็ทเวิร์คที่ใช้ในบ้านพักอาศัยของผู้คนในปัจจุบัน (บางคนก็เรียกว่า Home Network) มักจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดที่ใช้เน็ทเวิร์คร่วมกันในบ้าน อย่างเช่น คอมพิวเตอร์, ทีวี หรือระบบโฮม ออโตเมชั่น ฯลฯ ทำให้ตัว router ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจ่ายสัญญาณเน็ทเวิร์คให้กับอุปกรณ์ทั้งหมดมักจะถูกติดตั้งไว้ในจุดที่อุปกรณ์อื่นๆ สามารถเข้าถึงได้ง่าย อย่างเช่น ในห้องควบคุมระบบสื่อสารของบ้าน (บ้านใหญ่ๆ จะมี) หรือบริเวณห้องรับแขกของบ้าน ซึ่งในกรณีนั้น จึงจำเป็นต้องลากสาย Ethernet (สาย LAN) จาก router ไปที่ชุดเครื่องเสียง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ไกลจากห้องรับแขกไปมากหลายเมตร ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหา latency หรือความผิดพลาดของข้อมูลเสียงทางด้าน “เวลา” (clock) และมีโอกาสที่สาย LAN จะทำตัวเป็นเสาอากาศรับคลื่นรบกวน RF และคลื่นความถี่สูงจากภายนอกเข้ามาในตัวสายและแพร่กระจายไปถึงอุปกรณ์ network player ในระบบ มีผลให้เสียงแย่ลง

ถ้าในระบบของคุณใช้อุปกรณ์ network streamer แบบ all-in-one แค่ตัวเดียว ก็ลากสาย Ethernet จาก router มาแค่เส้นเดียว แต่ถ้าคุณใช้ระบบเพลย์แบ็คที่แยก network player transport + network DAC ก็ต้องลากสาย Ethernet ยาวๆ มาในห้องฟังถึงสองเส้น ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากและการเดินสาย Ethernet ยาวๆ เป็นระยะทางไกลๆ ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้คลื่น RF และ EM ในอากาศและคลื่นความถี่สูงแทรกซึมเข้าไปในสาย Ethernet และส่งต่อเข้าไปถึงตัว network streamer ได้

ด้วยมูลเหตุเหล่านี้ อุปกรณ์ที่ชื่อว่า “network switch” จึงได้อุบัติขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นถึง 2 ประการพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือ ช่วยลดจำนวนสาย Ethernet ที่เดินจาก router มาที่ชุดเครื่องเสียงให้เหลือแค่เส้นเดียว มาเข้าที่ตัว network switch ที่ว่านี้ โดยที่เจ้า network switch จะทำหน้าที่ “ขยาย” ช่องทางการเชื่อมต่อไปที่ router เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวน port (หรือช่อง) ต่อเชื่อมบนตัว network switch นั้นๆ (บางตัวก็มี 4 port บางตัวก็มี 8 port คือต่อพ่วงอุปกรณ์ได้ถึง 8 ตัว และถ้าเป็น network switch ที่ใช้ในธุรกิจใหญ่ๆ จะมีช่องเชื่อมต่อมากนับสิบๆ ช่องก็มี)

ประโยชน์อีกอย่างของตัว network switch ก็คือช่วยสกัดกั้นสัญญาณรบกวน (noise) ที่แทรกซึมมากับสาย Ethernet ที่มาจาก router ด้วยการขจัดทิ้งไป ก่อนจะส่งต่อสัญญาณเสียงที่สะอาดแล้วให้กับอุปกรณ์ในระบบด้วยสาย Ethernet สั้นๆ ซึ่งนักเล่นฯ ที่พิถีพิถันมากๆ สามารถเลือกใช้สาย Ethernet คุณภาพสูงที่สั้นๆ ได้ (ช่วยลดต้นทุนสำหรับสาย Ethernet ดีๆ ได้ทางหนึ่งคือไม่ต้องใช้ยาวมาก)

NuPrime รุ่น Omnia SW-8
เน็ทเวิร์ค สวิตช์สำหรับเครื่องเสียงระดับออดิโอ เกรด

แบรนด์ NuPrime เป็นแบรนด์ของไต้หวัน ซึ่งคุณ Jason Lim ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งแบรนด์ NuForce เดิมได้เข้าซื้อกิจการของ NuForce มาบริหารเองและเปลี่ยนชื่อเป็น NuPrime เมื่อปี 2014

NuPrime เป็นแบรนด์ผู้ผลิตสินค้าที่ออกแบบและผลิตขึ้นด้วยพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีทั้งแอมปลิฟาย, DAC และสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตัล ซึ่ง Omnia SW-8 ตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ NuPrime ที่ออกแบบและผลิตขึ้นมาสำหรับใช้งานกับระบบเน็ทเวิร์ค ออดิโอ

ครั้งนี้ผมได้รับตัวเน็ทเวิร์ค สวิตช์ Omnia SW-8 พร้อมกับตัว LPS (Linear Power Supply) รุ่น LPS-205 มาทดสอบร่วมกัน

รูปร่างหน้าตาของ Omnia Sw-8

บอดี้ของ Omnia SW-8 มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า สีเทาเมทัลลิก ขนาดกระทัดรัด ใหญ่กว่าฝ่ามือนิดหน่อย สัดส่วนภายนอกเท่ากับเน็ทเวิร์ค สวิตช์มาตรฐานทั่วไป คือกว้างสิบห้าเซนต์ฯ นิดๆ, ลึกแปดเซนต์ฯ ครึ่ง และสูงแค่สามเซนต์ฯ ส่วนน้ำหนักแค่ 500 กรัม เท่านั้น

ด้านบนของตัวเครื่องมีโลโก้และชื่อยี่ห้อ NuPrime พิมพ์อยู่บนนั้น ส่วนด้านข้างตัวถังที่เป็นเสมือนแผงหน้าของตัวเครื่องมีไฟ LED ดวงเล็กๆ เรียงกันอยู่ 10 ดวง จากซ้ายไปขวาเริ่มจาก “Power” ไฟสีเขียว แสดงสถานะการเปิด/ปิดของตัวเครื่อง, “Warning” เป็นไฟเตือน ซึ่งจะสว่างขึ้นไปสีแดงเมื่อมีความผิดปกติของตัวเครื่อง ส่วนไฟอีก 8 ดวง (พิมพ์ตัวเลข 1-8) ที่เหลือจะสว่างขึ้นเป็นสีส้มตรงตำแหน่งของ port ที่กำลังถูกเชื่อมต่อใช้งานซึ่งจะกระพริบขณะที่อุปกรณ์ตัวนั้นมีการสื่อสารกับอุปกรณ์ตัวอื่นในเน็ทเวิร์ค

ด้านหลังของตัวเครื่องมีช่อง Ethernet ไว้ให้ใช้ทั้งหมด 8 ช่อง และช่องเสียบขั้วต่อสำหรับอะแด๊ปเตอร์ AC/DC ที่แถมมา

อะแด๊ปเตอร์ AC-to-DC ที่แถมมาชื่อยี่ห้อ “Mean Well” มีกำลังไฟสูงสุด 12W ที่เอ๊าต์พุต 5V/2.4A เป็น AC/DC อะแด๊ปเตอร์เกรดสูงสุดของระดับที่ใช้ในโรงพยาบาลเพราะให้การรั่วของกระแสไฟต่ำมาก (น้อยกว่า 100 ไมโครแอมป์)

ดีไซน์ภายใน

หน้าที่หลักของอุปกรณ์ประเภท Network Switch โดยทั่วไปก็คือใช้ขยายช่อง (port) สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในระบบให้มากขึ้น คล้ายๆ Hub แต่สิ่งที่ทำให้ Omnia SW-8 แตกต่างจาก network switch ทั่วไปก็คือ “ประสิทธิภาพ” ที่ได้ถูกปรับปรุงให้ดีกว่า ทั้งในแง่ของ “การเชื่อมต่อ” และในแง่ที่เกี่ยวข้องกับ “คุณภาพเสียง” ด้วย

แม้ว่า Network จะมีใช้มานานแล้วในงานไอที แต่สมัยก่อนไม่ได้มีการใส่ใจในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพเสียงมาก่อน เมื่อ network ถูกนำมาในวงการเครื่องเสียง จึงได้เริ่มมีการพัฒนาอุปกรณ์แต่ละส่วนที่ใช้ในระบบเน็ทเวิร์คเพื่อให้ส่งผลดีต่อ “เสียง” ที่ดีขึ้น ซึ่งในกลุ่มของอุปกรณ์ประเภท network switch ต้องยกให้บริษัท Thunder Data ที่เริ่มสตาร์ทก่อนคนอื่นด้วยการพัฒนาระบบ noise filter ที่ช่วยกรองสัญญาณรบกวนสัญญาณอินเตอร์เน็ตขึ้นมาใช้ โดยให้ชื่อเรียกว่า “Silent Angel Noise Absorber” หรือเรียกย่อๆ ว่า SANA และนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายใต้ชื่อ Silent Angel ซึ่งทาง NuPrime ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของระบบกรองสัญญาณรบกวน SANA มาใช้ใน Omnia SW-8 ตัวนี้ด้วย และได้นำทักษะกับประสบการณ์สมัยที่ทำผลิตภัณฑ์เครื่องเสียงแบรนด์ NuForce มาใช้ในการอัพเกรด Omnia SW-8 ให้มีประสิทธิภาพเข้าขั้นมาตรฐานของอุปกรณ์เครื่องเสียงไฮเอ็นด์มากยิ่งขึ้น

ตัวถังของ Omnia SW-8 ทำด้วยอะลูมิเนียม ซึ่งในวงการเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ยอมรับกันมานานแล้วว่า ตัวถังเครื่องที่เป็นอะลูมิเนียมจะช่วยบล็อกคลื่นรบกวนจากภายนอกได้ดีกว่าตัวถังที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดปริมาณของ noise หรือสัญญาณรบกวนในตัว Omnia SW-8 ลงไปได้มาก

หน้าที่สำคัญของอุปกรณ์ประเภทสวิตชิ่งคือเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ในระบบเน็ทเวิร์คเข้าหากัน ด้วยการรับสัญญาณมาจากต้นทางคือ router แล้วส่งต่อไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นๆ ที่ต่อพ่วงอยู่กับสวิตชิ่งนั้น ดังนั้น ความสามารถในการขจัด noise จาก router ไม่ให้แพร่กระจายไปถึงอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ที่ต่อเชื่อมอยู่กับสวิตชิ่งตัวนั้นจึงเป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญมาก ซึ่งนอกจากจะใช้ตัวถังอะลูมิเนียมที่ช่วยป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอกแล้ว Omnia SW-8 ยังได้อัพเกรดภาคจ่ายไฟเลี้ยงแบบ low-noise ขึ้นมาใช้กับสวิตชิ่งตัวนี้ด้วย ซึ่งทำให้สามารถขจัดสัญญาณรบกวนลงไปได้ถึง 17dB

นอกจากนั้น Omnia SW-8 ยังได้ปรับปรุงภาค CLOCK ซึ่งเป็นตัวสร้างสัญญาณนาฬิกาที่ใช้ควบคุมการรับ/ส่งข้อมูลสัญญาณเสียงให้มีความเที่ยงตรงมากที่สุด ด้วยการใช้ตัวกำเนิดสัญญาณ CLOCK แบบ TCXO (Temperature Compensation Crystal Oscillator) และทำให้มีความเบี่ยงเบนน้อยเพียงแค่ 0.1ppm (0.1 part per million) ซึ่งเป็นความแม่นยำที่ “สูงกว่า” มาตรฐานของตัวกำเนิดสัญญาณนาฬิกา TCXO ทั่วไป มีผลให้สัญญาณรบกวนที่เกิดจากการทำงานของภาค CLOCK ในตัว Omnia SW-8 ลดลงได้มากถึง 20dB

ยังไม่หมด ที่ส่วนฐานของตัวถังด้านในของ Omnia SW-8 ยังได้ถูกแปะด้วยแผ่น absorber ชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติในการดูดกลืนคลื่น EM ไว้ด้วย จึงช่วยลดการรบกวนจากคลื่น EM ที่แผ่กระจายไปที่แผงวงจรลงไปได้มาก ทำให้สัญญาณเสียงที่ควบคู่ไปกับสัญญาณเน็ทเวิร์คที่วิ่งไปบนแผงวงจรมีความสะอาดปลอดจากการรบกวนของคลื่น EM

NuPrime รุ่น LPS-205
ภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ สัญญาณรบกวนต่ำ

เนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอัตราบริโภคไฟต่ำๆ อย่างพวก DAC, Streamermedia player และ media server จะอ่อนไหวต่อการถูกรบกวนจากอะแด๊ปเตอร์แบบสวิทชิ่งได้ง่าย การเปลี่ยนมาใช้ไฟเลี้ยงจากภาคจ่ายไฟแบบลิเนียร์ฯ (Linear Power Supply หรือ LPS) ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงจากปัญหาการรบกวนอย่างได้ผล อีกทั้ง LPS ที่ออกแบบมาดีพอ ยังช่วยทำให้ได้คุณภาพเสียงดีขึ้นด้วย เนื่องจากการจ่ายไฟได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

ตัวถังภายนอกของ LPS-205 มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมตันๆ ขนาดกระทัด กว้างแค่สิบห้าเซนต์ฯ ครึ่ง, สูง 6 เซนต์ฯ และลึก 11 เซนต์ครึ่ง แผงหน้ามีลักษณะโค้งมน มีไฟ LED อยู่ 4 ดวงแสดงสถานะการเปิด/ปิดเครื่อง และแสดงสถานะการทำงานของวงจรป้องกันกรณีเกิดปัญหา overheat ของวงจรภายในและของทรานฟอร์เมอร์ ซึ่งจะส่งผลต่อการจ่ายไฟเลี้ยงด้วย ที่ผนังด้านข้างซ้ายของตัวถังมีเจาะช่องระบายความร้อนเอาไว้ ไม่ควรจะวางชิดผนังตู้หรือในที่อับทึบ เพื่อให้การระบายความร้อนจากภายในสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งสวิทช์เปิด/ปิดเครื่อง, กระบอกใส่ฟิวส์, เต้ารับไฟ AC ขาเข้าแบบสามขาแยกกราวนด์ และขั้วจ่ายไฟ DC ถูกติดตั้งไว้ที่แผงด้านหลังทั้งหมด ซึ่ง LPS-205 ตัวนี้ให้ช่องจ่ายไฟเลี้ยงหลักๆ 2 ชุด ซึ่งแต่ละชุดมีขั้วต่อมาให้ 2 แบบคือ ปลั๊กขาเสียบทรงกระบอกขนาด 5.5mm x 2.1mm กับช่องเสียบ USB-A ซึ่งในแต่ละชุดนั้น ถ้าเสียบใช้งานแค่ช่องใดช่องหนึ่ง (5.5mm x 2.1mm หรือ USB-A) จะจ่ายไฟ DC 5V ด้วยกระแสสูงสุดได้ 2A แต่ถ้าต่อทั้งสองช่องพร้อมกันไฟจะแบ่งกันไปตามอัตราบริโภคของเครื่องที่เสียบ

ดีไซน์ภายใน

LPS-205 ใช้ MOSFET ในการจ่ายไฟทำให้ noise ต่ำ ระบบระบายความร้อนภายในตัวเครื่องออกแบบโดยไม่ใช้พัดลม ใช้ไอโซเลต ทรานฟอร์เมอร์แบบแกน EI ในการจ่ายกระแส จึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสัญญาณรบกวนขึ้นกับตัว Omnia SW-8 ที่มาดึงไฟไปใช้ นอกจากนั้น ยังใช้กาวอีพ็อกซี่อัดผนึกตัวทรานฟอร์เมอร์เอาไว้เพื่อลดอาการสั่นสะเทือนขณะทำงาน จึงช่วยให้ได้ความสงัดมากยิ่งขึ้น

มีวงจรฟิลเตอร์สำหรับคลื่น EM, ใช้ระบบเปิดไฟเข้าเครื่องแบบ soft start, ใช้แคปาซิเตอร์ตรงเอ๊าต์พุตที่มีขนาดใหญ่ถึง 35,000 ไมโครฟารัด, มีระบบป้องกันฟ้าผ่า, มีระบบป้องกันโอเว่อร์โหลดของโวลเตจและกระแส และระบบป้องอุหณหภูมิสูงเกินไป

LPS-205 ถูกออกแบบมาให้ใช้จ่ายไฟแทนอะแด๊ปเตอร์แบบสวิทชิ่งที่แถมมากับตัว Omnia SW-8 โดยตรงอยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงไปกันได้ดีในทุกด้าน

ทดสอบ

ผมดึงสาย LAN (Ethernet) ยาวๆ จาก router/modem ของ True ข้ามฟากจากผนังซ้ายไปที่ผนังขวาด้านที่วางชุดเครื่องเสียงด้วยสาย LAN ที่ยาวประมาณ 10 เมตร ไปเข้าที่ตัว gigabit ethernet switch ระดับ IT grade ของ D-Link รุ่น DGS-1008A ที่ผมใช้อยู่เดิม จากนั้นผมก็ใช้สาย Ethernet เส้นสั้นๆ ต่อจากกล่อง network switch นี้ไปที่อุปกรณ์ตัวอื่นๆ ในชุดเครื่องเสียงที่ต้องใช้สัญญาณเน็ทเวิร์ค

network switch ยี่ห้อ D-Link ที่ผมใช้อยู่เดิม (ตัวที่อยู่ในมือ) ขนาดใกล้เคียงกับ Omnia SW-8

ในการทดสอบครั้งนี้ ทำได้ง่ายมาก คือผมแค่นำตัว Omnia SW-8 เข้าไปสลับแทนตัว D-Link ที่ผมใช้อยู่เดิมแล้วฟังเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง

หลังจากนั้น ผมก็นำตัว LPS-205 ที่ใช้จ่ายไฟให้ Omnia SW-8 มาใช้จ่ายไฟให้กับ Omnia SW-8 แทนที่อะแด๊ปเตอร์ที่แถมมากับตัว Omnia SW-8 แล้วทดลองฟังเทียบระหว่าง ใช้อะแด๊ปเตอร์กับใช้ตัว LPS-205 เป็นการสรุปผลสุดท้าย

ผลทางเสียงระหว่าง
D-Link DGS-1008A vs. NuPrime Omnia SW-8

ไม่ต้องฟังนานเลย.!! แค่เพลงเดียวก็รู้เรื่องแล้ว สิ่งแรกที่สัมผัสได้ทันทีที่เปลี่ยน Omnia SW-8 เข้าไปแทน D-Link ก็คือความสะอาดของเสียง โดยเฉพาะเสียงของโน๊ตดนตรีที่อยู่ในย่านแหลม และจะยิ่งเห็นผลชัดมากขึ้นกับเครื่องดนตรีที่ทำมาจากโลหะ อย่างพวก เสียงฉาบและเสียงไฮแฮทของกลอง และเสียงเพอร์คัสชั่นบางชนิด ซึ่งฟังจากเพลงทั่วๆ ไปที่ไม่ได้เป็นงานบันทึกเสียงของค่ายไฮเอ็นด์ฯ จะฟังออกชัดยิ่งขึ้น

อัลบั้ม : The Very Best Of Sweet Rock (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Various Artists
ค่าย : EMI

ผมตั้งใจเลือกอัลบั้มนี้มาลองฟังเป็นอันดับแรก เพราะเพลงแนวร็อคจากค่ายเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไปมักจะมีอาการหยาบและมีสากเสี้ยนเยอะ ถ้าพื้นเสียงของระบบเพลย์แบ็คไม่สะอาดพอ จะยิ่งส่งเสริมความหยาบและสากเสี้ยนให้แยงหูมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับอัลบั้มแนวรวมเพลงฮิตแบบนี้ด้วยยิ่งชัดมาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ยินมันก็ฟ้องให้ได้ยินว่า D-Link กรอง noise ที่มาตาก router ได้ไม่หมด เสียงที่ออกมาจึงมีความหยาบ สาก และแยงหู เมื่อเปลี่ยนมาที่ Omnia SW-8 ผมพบว่าอาการหยาบ สาก และแยงหูลดน้อยลงมาก บางเพลงนั้นฟังชัดขึ้นเลยว่า อาการปลายเสียงแตกซ่านมันมาจากตัวเพลงเอง ซึ่งอาจจะเป็นความผิดพลาดมาจากการบันทึกเสียง/มิกซ์เสียง หรือมาสเตอริ่ง หรือเกิดจากขั้นตอนการปรับตั้งเสียงตอนตัดแผ่นซีดี ซึ่งพื้นเสียงของระบบเพลย์แบ็คที่สะอาดมากขึ้น ทำให้พื้นเสียงมีความใส (transparent) มากขึ้น จึงทำให้สามารถฟังทะลุลงไปที่แต่ละเสียงได้ง่ายขึ้น ชัดขึ้น

อัลบั้ม : Lesley Olsher (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Lesley Olsher
ค่าย : Vital Records

หลังจากลองฟังเพลงจากค่ายเพลงคอมเมอร์เชี่ยลทั่วไปจำนวนหนึ่ง ผมก็ลองวกกลับมาลองฟังเพลงที่จัดทำโดยค่ายเพลงไฮเอ็นด์ฯ ดูบ้าง เพื่อดูว่า ถ้าเป็นเพลงที่บันทึกมาดีมากๆ อยู่แล้ว เจ้าตัว Omnia SW-8 มันจะเข้ามาช่วยอะไรได้อีกมั้ย.? ปรากฏว่าพอฟังมาถึงอัลบั้มนี้ ผมก็ได้ยินอะไรบางอย่างที่น่าสังเกต คือพอสลับเปลี่ยน Omnia SW-8 ลงไปแทน D-Link ตัวเดิมของผม รู้สึกได้เลยว่า Omnia SW-8 ทำให้ผมสัมผัสกับ “แอมเบี้ยนต์” ในอัลบั้มนี้แผ่กระจายออกมาได้ชัดขึ้น ซึ่งที่มาของการบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ผมทราบดีอยู่แล้วว่ามันให้แอมเบี้ยนต์ได้ดีมาก เสียงโดยรวมเปิดโล่ง โปร่งตลอดทุกด้าน ซึ่ง Omnia SW-8 ช่วยทำให้ความรู้สึกเปิดโล่งแบบนั้นปรากฏออกมาในห้องฟังของผม ซึ่งตอนใช้ D-Link ก็พอมีมวลแอมเบี้ยนต์แผ่ออกมาให้รู้สึกอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ฉ่ำและแผ่กว้างเท่ากับตอนเปลี่ยนมาใช้ Omnia SW-8

นอกจากนั้น ผลจาก “ความสะอาด” ของพื้นเสียงที่ปราศจากการรบกวนของ noise รูปแบบต่างๆ มันทำให้ผมรับรู้ถึง inner detail ของแต่ละเสียงได้ชัดขึ้น รับรู้ถึง “อารมณ์” ของการบรรเลงและการขับร้องของศิลปินได้ชัดขึ้น ใกล้ชิดเข้าไปกับสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับเราได้มากขึ้น !!

อัลบั้ม : Ballad With LUV (WAV 16/44.1)
ศิลปิน : Salena Jones
ค่าย : JVC

จากอัลบั้มชุดนี้ซึ่งบันทึกเสียงมาดีมากอยู่แล้ว โดยเฉพาะการแยกชิ้นดนตรีทำได้ดีมาก คุณสามารถชี้ชัดตำแหน่งของเสียงแต่ละชิ้นออกจากกันได้ง่าย เมื่อเล่นบนซิสเต็มเดิมของผมที่เปลี่ยนเอา Omnia SW-8 ลงไปแทน D-Link ตัวเก่า ผมพบว่า ความสะอาดของพื้นเสียงที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกถึง space หรือระยะห่างระหว่างชิ้นดนตรีที่ชัดขึ้น ได้ยินละอองของฮาร์มอนิกที่เกิดจากเครื่องดนตรีต่างๆ ที่แผ่ออกมาและรวมตัวกันเป็นมวลแอมเบี้ยนต์ที่คละคลุ้งอยู่ในช่องว่างเหล่านั้นได้ชัดขึ้น

ความเนียนและความต่อเนื่องของไดนามิกคอนทราสน์ก็เป็นอีกคุณสมบัติที่ผมสังเกตพบว่าดีขึ้นหลังจากเปลี่ยน Omnia SW-8 เข้าไป ซึ่งผมสังเกตว่า หลังจากเปลี่ยนเอา Omnia SW-8 ลงไป ผมรู้สึกว่า ช่วงนาทีแรกๆ จะมีแค่ “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นกับภาพรวมๆ ของเสียงแค่นิดหน่อย คือรู้สึกว่ามีอะไรต่างออกไปจากเดิมแน่ๆ แต่ระบุชัดไม่ได้ ต้องใช้เวลานั่งฟังต่อไปอีกสักพัก จึงจะเริ่มเข้าสู่สภาวะของการ “รับรู้” ถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผมนึกถึงการเอาสารส้มลงไปคนในน้ำขุ่นๆ ต้องรอสักพักน้ำขุ่นๆ นั้นถึงจะเริ่มใสและมองเห็นตะกอนที่แยกตัวออกมาจากน้ำได้ชัดขึ้น ในซิสเต็มเดิมที่มี noise ปะปนอยู่เยอะๆ และมีความผิดพลาดของ “เวลา” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยกรองสัญญาณรบกวน (noise) ออกไปจากระบบ ต้องให้เวลาในการ setup ระบบและเซ็ตอัพ clock ของระบบใหม่สักช่วงเวลาหนึ่ง จนกว่า “ทุกอย่าง” จะเข้าที่ไปสู่ new normal ที่ภาพรวมทุกอย่างดีกว่าเดิม

สรุป

ผมนั่งฟังเสียงของซิสเต็มตัวเองหลังจากการสลับเปลี่ยนตัว network switch ของ Omnia SW-8 ลงไปแทน D-Link ตัวเดิมแล้วอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าจะมีคำถามว่า เครื่องเสียงชิ้นนั้นชิ้นนี้ให้เสียง “คุ้มมั้ย” เราจะใช้วิธีวัดปริมาณยังไง.? ถ้าพูดตามหลักการก็คือ เอา “คุณภาพเสียง” ที่ได้จากเครื่องเสียงชิ้นนั้นตั้ง แล้วเอา “ราคาขาย” ของเครื่องเสียงชิ้นนั้นไปหาร ซึ่งต้องขอบอกเลยว่า ในชีวิตความเป็นจริงแล้ว การคำนวนอะไรแบบนี้มันยากมากที่จะให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรม

วิธีที่ผมใช้ก็คือต้องอาศัย “ประสบการณ์” เข้ามาเสริมในการประเมิน ซึ่งการลงทุนกับ NuPrime Omnia SW-8 ด้วยเงินหมื่นกว่าบาท เมื่อเทียบกับคุณภาพเสียงที่ได้ยินออกมาจากซิสเต็มเดิมแล้ว จากประสบการณ์ของผม ต้องขอบอกเลยว่า โค–ตะ–ระ คุ้มเลยครับ! ส่วน LPS-205 ช่วยเพิ่มน้ำหนักเสียงกับความต่อเนื่องขึ้นมาอีกประมาณ 10-15% /

********************
ราคา Omnia SW-8 : 16,900 บาท / ตัว
ราคา LPS-205 : 13,000 บาท / ตัว
หมายเหตุ – ราคานี้จะอยู่ถึงสิ้นปี 2020 เท่านั้น ปีหน้าราคาจะขึ้นไปอีกประมาณ 10%
********************
สนใจติดต่อที่
– website WYSIWYG Thailand
– facebook WYSIWYG Thailand
********************
หรือสั่งซื้อทางออนไลน์ได้ที่
– Shopee

ขอบคุณข้อมูลการีวิวจาก : Allabout.in.th โดยอ.ธานี โหมดสง่า

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *